สถิติ
เปิดเมื่อ9/03/2016
อัพเดท22/03/2016
ผู้เข้าชม5159
แสดงหน้า6289
ปฎิทิน
April 2024
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
    




บทความ

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 2015

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 2015

                เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งล่าสุด ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

                ประชาคมอาเซียน

                ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ได้หารือถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า มีความคืบหน้าไปมาก แต่มีการบ้านเหลืออยู่ไม่น้อย ซึ่งสิ่งที่จะต้องทำต่อ จะไปอยู่ในแผนและวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลัง 2015

                สำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคง ที่ประชุมได้หารือถึงประเด็นปัญหาโรฮินญา ซึ่งในภาษาอาเซียนใช้คำว่า “ปัญหาการเคลื่อนย้ายบุคคลที่ไม่ปกติ” และเกี่ยวโยงกับเรื่องการค้ามนุษย์ ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อผลการประชุมฉุกเฉินรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ เกี่ยวกับปัญหาโรฮินญาในเดือนกรกฎาคม และการประชุมพิเศษที่กรุงเทพในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้มีข้อเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนพิเศษของอาเซียน เพื่อสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ชาวโรฮินญา และได้มีการพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อจัดการกับปัญหานี้ นอกจากนี้ ขณะนี้กำลังมีการร่าง อนุสัญญาต่อต้านการค้ามนุษย์ของอาเซียน เพื่อเสนอที่ประชุมสุดยอดอาเซียนปลายปีนี้

                อีกเรื่องเป็นความร่วมมือทางด้านการทหาร ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนในเดือนมีนาคม และมีข้อเสนอให้มีการจัดตั้งกองกำลังพิเศษเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและจัดการกับภัยพิบัติ และข้อเสนอ (ซึ่งน่าจะเป็นข้อเสนอของไทย) ที่จะจัดตั้งศูนย์การแพทย์ทหารของอาเซียนขึ้น

                สำหรับประชาคมเศรษฐกิจหรือ AEC นั้น ที่ประชุมยินดีต่อความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการต่างๆภายใต้ AEC Blueprint โดยเฉพาะในเรื่องการลดภาษีศุลกากร ซึ่งขณะนี้ลดลงไปได้ 95.99 % แล้ว

                สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ความคืบหน้าสำคัญคือ ความร่วมมือในการจัดการกับภัยพิบัติ โดยขณะนี้ กำลังมีการร่างปฏิญญาอาเซียน  “One ASEAN One Response”  โดยปฏิญญาดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างอาเซียนในการจัดการกับภัยพิบัติ และ AHA Centre จะเป็นกลไกสำคัญของอาเซียนในเรื่องนี้

                อาเซียนกับมหาอำนาจ

                สำหรับความสัมพันธ์อาเซียนกับมหาอำนาจนั้น ที่ประชุมได้ตอกย้ำความสำคัญของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และได้มีการประชุมเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาคในกรอบของ EAS เมื่อเดือนกรกฎาคม  ซึ่งจุดยืนของอาเซียนคือ อาเซียนต้องการมีบทบาทนำ และเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค อาเซียนให้ความสำคัญกับ ARF ในการเป็นเวทีหลักของความร่วมมือ

ด้านความมั่นคง และ ARF ซึ่งมีอาเซียนเป็นแกนกลาง จะมีบทบาทในวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

                นอกจากนี้ กรอบความร่วมมืออาเซียน + 3 และ EASจะเป็นกลไกสำคัญเช่นเดียวกัน ในเรื่องสถาปัตยกรรม ซึ่งจุดยืนของอาเซียนคือ อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือทั้งในกรอบอาเซียน + 3 และ EAS

                อย่างไรก็ตาม กรอบ EAS ล่าสุด ได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางทะเล ซึ่งมีหลายเรื่อง เช่น ความมั่นคงทางทะเล เสรีภาพในการเดินเรือ และการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล

                ปัญหาทะเลจีนใต้

                สำหรับความสัมพันธ์อาเซียนกับจีน ก็มีทั้งเรื่องในแง่บวกและในแง่ลบ

                ในแง่บวก ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจก็ใกล้ชิดแน่นแฟ้น ยุทธศาสตร์จีนล่าสุดที่เน้น One Belt One Road และ Maritime SilkRoad ก็จะมาสอดรับกับแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน นอกจากนี้ จะมีการเจรจาเพื่อปรับปรุงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน เพื่อจะทำให้การค้าอาเซียน-จีนเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2020

                อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ในแง่ลบของอาเซียน-จีนคือ ปัญหาทะเลจีนใต้ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในครั้งนี้ ได้มีการหารือกันอย่างเข้มข้น และที่ประชุมได้แสดงความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ขณะนี้ โดยเฉพาะประเด็นการถมที่ทำเกาะของจีน ท่าทีของอาเซียนคือ ต้องการให้ทุกฝ่ายเดินหน้าแปลง DOC ไปสู่การปฏิบัติ และต้องการให้มีการเจรจาจัดทำ Code of Conduct หรือ COC โดยเร็ว

ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อผลการประชุม เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน ซึ่งได้ตกลงที่จะเจรจากันในเรื่อง ของกรอบ โครงสร้าง ประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำ COC

                บทวิเคราะห์

·       ประชาคมอาเซียน

ผมมองว่า แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในระดับหนึ่งในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่มีความคืบหน้า

ประชาคมการเมืองและความมั่นคง การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนยังไปไม่ถึงไหน  AICHR ยังไม่มีประสิทธิภาพ กลไกแก้ไขความขัดแย้งของอาเซียน ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ความร่วมมือในการจัดการ กับปัญหาความมั่นคงทั้งในรูปแบบเก่าและในรูปแบบใหม่ ก็ยังเบาบาง

ส่วนประชาคมเศรษฐกิจหรือ AEC ก็ยังมีปัญหาอีกมาก AEC ยังไม่ใช่ตลาดและฐานการผลิต เดียว การเปิดเสรี 5 ด้านยังไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะการค้าภาคบริการ การเคลื่อนย้ายเงินทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน

และสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรม อาเซียนก็ยังห่างไกลกับการที่จะมีอัตลักษณ์ร่วม และยังห่างไกลกับการที่ประชาชนจะเป็นศูนย์กลางของประชาคม

·       สถาปัตยกรรมในภูมิภาค

ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนเน้นมากในการเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ซึ่งใช้คำว่า ASEAN Centrality ผมมองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก อาเซียนจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการที่จะทำให้อาเซียนเป็นศูนย์กลาง เป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค เรื่องใหญ่คือ การสร้างเอกภาพ ความสามัคคี และการกำหนดท่าทีร่วมกัน แต่ที่ผ่านมา อาเซียนก็มีแต่ความแตกแยก แตกสามัคคี และถูกแบ่งแยก ถูกปกครองโดยมหาอำนาจมาโดยตลอด 

·       ปัญหาทะเลจีนใต้

ผมมองว่า แม้ว่าอาเซียนกับจีนจะมีความใกล้ชิดกันทางเศรษฐกิจ แต่ทั้ง 2 ฝ่ายก็ขัดแย้งกันในปัญหาทะเลจีนใต้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนที่ยังแก้ไม่ตก และมีแนวโน้มจะลุกลามบานปลาย  เพราะทุกฝ่ายไม่มีใครยอมใคร โดยเฉพาะจีนมีจุดยืนที่แข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่มีสหรัฐฯหนุนหลัง ก็มีท่าทีแข็งกร้าวกล้าเผชิญหน้ากับจีนมากขึ้น และตัวแปรสำคัญคือสหรัฐฯ ที่เข้ามาแทรกแซงวุ่นวายกับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้น่าเป็นห่วงว่า ปัญหานี้อาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต 

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์กระบวนทรรศน์  ฉบับวันที่ 20 สิงหาคม 2558